วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

การที่เราให้ปุ๋ยกับต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก ไม้ดอกหรือไม้ประดับ ก็หวังเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีออกมา หากเป็นไม้ผลก็อยากจะให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพขายได้ราคาดี หากเป็นไม้ดอกไม้ประดับก็อยากให้ได้ดอกหรือใบที่มีสีสรรสวยสดงดงามการให้ปุ๋ยเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าขั้นตอนอื่น ๆ ของการปลูกต้นไม้เลยนะคะ โดยทั่วไปแล้วไม้ดอกไม้ประดับจะมีการเจริญเติบโต 2 ทางคือ การเจริญเติบโตทางต้น และการเจริญเติบโตทางดอก หรือที่เรียกกันว่าระยะออกดอกนั่นเอง ซึ่งการให้ปุ๋ยแต่ละช่วงเวลาของต้นไม้นั้นก็ย่อมมีความแตกต่างกันเช่นในเรื่องของความต้องการธาตุอาหารของพืช แต่ละชนิดที่แตกต่างกัน

ดังนั้นในการที่เราจะให้หรือเพิ่มธาตุอาหารเพื่อให้พืชเจริญเติบโตต่อไปเราจะต้องทราบค่ะว่าในระยะต่าง ๆ ของการเจริญเติบโตของพืชนั้นพืชต้องการธาตุอาหารอะไรมากกว่าปกติหรือไม่และการให้ที่ถูกระยะเวลาของ ความต้องการธาตุอาหารแต่ละช่วง เวลาก็จะเป็นการช่วยให้พืชสามารถดูดปุ๋ยไปใช้อย่างเหมาะสมเต็มที่ สำหรับการเริ่มต้นของการให้ปุ๋ยแก่ไม้ดอกไม้ประดับนั้นในขั้นต้นเราจะต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมหรือที่เรียกว่าปุ๋ย รองพื้นนั่นแหละค่ะ ยิ่งถ้าเป็นไม้ดอกที่มีอายุในการเจริญเติบโตยาวนานมากกว่า 1 ปี เช่นกุหลาบหรือเยอบีร่า จะนิยมใช้ปุ๋ยฟอสเฟสบดละเอียดมาใส่รองพื้นก้นหลุมก่อนที่จะปลูก หรืออีกวิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันมากก็คือ การใส่เป็นแถบหรือเป็นแถว โดยใส่ระหว่างร่องซึ่งจะนิยมทำกันในที่ที่ปลูกแบบยกร่องปลูกและมีระยะในการปลูกไม่ห่างหรือชิดจนเกินไป หลังจากต้นไม้ตั้งตัวได้ประมาณ 5-10 วัน หรือ 20-30 วัน ก็ต้องใส่ปุ๋ยอีกครั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูชนิดและประเภทของต้นไม้อีกหล่ะค่ะว่า ต้นไม้ต้องการธาตุอาหารที่อาจจะแยกย่อยไปอีกที่แตกต่างกัน ในขั้นต่อมาเมื่อต้นไม้เติบโตได้ที่ในระยะหนึ่งแล้วไม้ดอกจะมีการเจริญเติบโตทางต้นของไม้ดอกไม้ประดับ ช่วงนี้เราจะต้องเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจนให้มากกว่าธาตุฟอสฟอรัสและโปแทสเซียม เพื่อช่วยเร่งให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตทางต้นและใบอย่างเต็มที่ และหากเป็นช่วงระยะที่ต้นไม้ออกดอกปุ๋ยที่เราจะให้แก่ต้นไม้ในระยะนี้คือจะต้องให้ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง กว่าธาตุอาหารอื่นๆ เช่นอาจจะเป็นปุ๋ยสูตร 15-30-15 ก็ได้ค่ะ เพื่อให้ได้ดอกไม้ที่มีคุณภาพ แต่บางคนที่เป็นนักเล่นต้นไม้เค้าก็แนะนำมาว่าถ้าต้องการให้ดอกไม้ออกมามีความคงทนสวยงามและให้ดอกอยู่นาน ๆ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงได้เช่นกันหรืออาจจะเป็นปุ๋ยสูตรเสมอ เช่นปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ค่ะ เพื่อเป็นการเสริมให้ทั้งต้นและใบเจริญเติบโตได้ดีค่ะ แต่หากเป็นไม้ดอกที่ปลูกในกระถางหรือไม้ดอกที่ปลูกในแปลงที่มีระยะปลูกที่ค่อนข้างห่าง ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบร่วมด้วยเป็นครั้งคราว ก็จะเป็นการช่วยให้ได้ดอกมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและทำให้ใบมีสีเขียวเข้มสมบูรณ์ขึ้นด้วยค่ะ หลังจากที่มีการออกดอกหรือภายหลังจากที่มีการตัดดอกไปแล้วก็จะต้องมีการเพิ่มปุ๋ยให้แก่ดินอีกครั้งหนึ่งคะ เพื่อที่ต้นไม้จะได้ดูดเอาปุ๋ยไปใช้ในการเสริมสร้างและสะสมอาหารเพื่อการผลิตดอกในครั้งต่อ ๆ ไปค่ะ

ยังมีปุ๋ยอีกประเภทหนึ่งที่เสริมให้กับไม้ดอกไม้ประดับโดยถือว่าเป็นธาตุอาหารเสริมหลังจากใส่ปุ๋ยเคมีทางดินแล้ว นั่นก็คือ "ปุ๋ยปลา" ปุ๋ยปลามีประโยชน์คือนอกจากจะมีธาตุอาหารต่าง ๆ ที่ต้นไม้ต้องการแล้ว ก็ยังมีไขมันที่ติดมากับชิ้นส่วนปลา ซึ่งไขมันเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นสารจับใบช่วยทำให้การใช้ปุ๋ยทางใบมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นค่ะ นอกจากนั้นแล้วปุ๋ยปลาก็ยังช่วยพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้นอีกด้วย เช่น ดอกไม้จะมีสีสดขึ้น สำหรับไม้ผลก็สามารถนำเอาปุ๋ยปลามาใช้ได้เช่นกันนะคะ เพราะปุ๋ยปลาจะช่วยให้ผลของต้นไม้ผลมีคุณภาพดีขึ้น และช่วยเร่งการแตกยอดและออกดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้ได้ดีอีกด้วยค่ะ วิธีการทำปุ๋ยปลาก็ไม่ยากนั่นก็คือ นำเอาพุงปลา หัวปลา ก้างปลา หางปลา และเลือดปลา โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นปลาชนิดใดจากแหล่งไหนใช้ได้ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเลทุกชนิด นำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาทำการบด จากนั้นนำไปหมักโดยใช้กรดน้ำส้มสายชูเข้มข้นในปริมาณร้อยละ 3.5 ผสมให้เข้ากัน (สาเหตุที่ต้องใส่กรดลงไปหน่ะเหรอค่ะ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดอื่นลงไปเจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้พุงปลาและเลือดเน่ามีกลิ่นหมิ่นค่ะ) หลังจากนั้นเติมกากน้ำตาลในปริมาณร้อยละ 20 เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเศษปลา เสร็จแล้วคนให้เข้ากัน และหมั่นคนติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา 7 วัน ในระยะนี้จะสังเกตว่าพุงปลาหรือเศษปลาเริ่มละลายออกมาเป็นสารละลายจนเกือบหมดแล้ว ให้นำไปหมักต่ออีก 21 วัน ในระหว่างนี้ให้คนเป็นครั้งคราว และการหมักปุ๋ยปลาถ้าใช้เวลานานมากขึ้นก็จะยิ่งได้ปุ๋ยปลาที่มีคุณภาพและกลิ่นที่ดียิ่งขึ้นค่ะ หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซียม และ แมกเนเซียม และธาตุอาหารรองได้แก่ กำมะถัน เหล็ก ทองแดง และแมงกานีสค่ะ…..สำหรับเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่ใคร ๆ มักให้ชื่อว่าเป็นเดือนแห่งความรักการมอบดอกไม้ที่มีสีสันสดใสสวยงาม ด้วยการปลูกจากฝีมือของเราเองนั้นจะเป็นสิ่งที่น่าประทับใจและสร้างสีสันให้กับวันแห่งความรักได้อย่างมากเลยทีเดียวค่ะ

คุณผู้ฟังที่รักค่ะ หากคุณผู้ฟังต้องการได้รายละเอียดเกี่ยวกับรายการสาระความรู้ทางการเกษตรเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ หรือมีปัญหาทางการเกษตรต้องการคำปรึกษา แนะนำ หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม แก่ทางรายการฯก็ตาม ขอเชิญติดต่อเข้ามาได้ค่ะ ทั้งทางจดหมายและโทรศัพท์นะคะ ทางจดหมายจ่าหน้าซองถึง คุณดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ หัวหน้างานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รหัสไปรษณีย์ 90112 ส่วนทางโทรศัพท์กรุณาติดต่อมาที่หมายเลขโทรศัพท์ (074) 212849 ต่อ 14 ในวันและเวลาราชการค่ะ